ธปท.เบรกแผน คิดดอกเบี้ยตามเสี่ยง ชี้สถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนยังอ่อนไหว”


ธปท.ชะลอมาตรการคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง ชี้เป็นประเด็นอ่อนไหว ห่วงสถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตลูกค้าสูงเกินจริง “เคทีซี” เบรกแผนรอความชัดเจนแบงก์ชาติ เชื่อ ธปท.กังวลปม “หนี้สูง-ความสามารถชำระหนี้ด้อย” ขณะที่ “ทีทีบี” เดินหน้าทดสอบต่อ ลุยทดลองปล่อยกู้กลุ่ม “นาโนไฟแนนซ์-โอนสินเชื่อบุคคล” ฟาก “LINE BK” หนุนแนวทาง Risk Based Pricing ช่วยดึงคนนอกระบบ ระบุต้องแก้ “กฎหมาย” ตามด้วยปรับการกำกับดูแล

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ต้องชะลอแผนที่จะให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตามแนวทางการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้า (Risk Based Pricing : RBP) ออกไปก่อน เนื่องจากแนวทางดังกล่าวยังมีความอ่อนไหว (Sensitive) โดย RBP มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในภาวะปัจจุบันหากเร่งดำเนินการจะค่อนข้างอ่อนไหว (Sensitive) จึงต้องเข้มไว้ก่อน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ทั้งนี้ ปัญหาการปล่อยสินเชื่อ หรือไม่ปล่อยของสถาบันการเงิน จะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงทางด้านเครดิต (Credit Risk) และเงินทุนเพียงพอหรือไม่ ซึ่งในฝั่งของทุน ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีเพียงพอ ส่วนด้าน “Credit Risk” ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ และความเสี่ยงที่สูงขึ้น ธนาคารจึงระวังมากขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลขสินเชื่อชะลอตัวลง

“สิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น คือ แบงก์ประเมินความเสี่ยงเครดิตที่สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ต้องระมัดระวัง ไม่ได้เป็นเรื่องของสินเชื่อชะลอตัว แต่การประเมินความเสี่ยงที่สูงขึ้น จะทำให้เกิดการเหยียบเบรกแรงเกินไป ดังนั้น ธปท.จึงต้องการแก้โครงสร้างการประเมินความเสี่ยง”

โดยวิธีการแก้เรื่อง Credit Risk ได้แก่ 1.ข้อมูลต้องมีความแม่นยำขึ้น เพราะปัจจุบันข้อมูลเบลอหมด ไม่รู้ใครเสี่ยง หรือไม่เสี่ยงบ้าง และ 2.กลไกการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอี เสี่ยงสูงจริง ซึ่งให้ผลตอบแทนเทียบกับต้นทุนแล้วไม่คุ้มค่า จึงต้องให้คนอื่นมารับความเสี่ยงแทน หรือให้รัฐเข้ามาช่วยรับค้ำประกัน เป็น Credit Guarantee

“แนวคิดการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ธปท.กำลังชั่งน้ำหนักอยู่ ถ้าทำได้ก็ดี เพราะเหตุผลที่คิดตอนนั้น คือ มีคนเข้าถึงระบบสินเชื่อไม่ได้ เลยออกไปนอกระบบ ซึ่งดอกเบี้ยสูงกว่าเยอะมาก ดังนั้น ทางที่ดีให้คนเหล่านั้นเข้ามาในระบบ โดยอาจจะเสียอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน แต่ยังต่ำกว่านอกระบบ อย่างไรก็ดี Risk Based Pricing ยัง Sensitive ในการทำเรื่องเหล่านี้ จึงพักไว้ก่อน”

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า บริษัทได้ชะลอแผนการทดลองการปล่อยสินเชื่อตามแนวทาง RBP ออกไปก่อน เนื่องจากต้องรอประกาศความชัดเจนของกรอบกติกาและรายละเอียดการปฏิบัติตามแผน เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการพูดคุยหารือกันเพียงคอนเซ็ปต์เบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังไม่มีเกณฑ์หรือประกาศออกมา

“ธปท.อาจจะมีความกังลในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยหากดูเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อตามแนวทาง Risk Based Pricing เป็นการขยายเพดานดอกเบี้ยสูงกว่า 25% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราปัจจุบันที่คิดอยู่ เพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาในระบบได้ แต่ในแง่ของความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อาจจะยังไม่เหมาะสม ทำให้ต้องชะลอแผนออกไปก่อน”

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ธนาคารยังทดลองปล่อยสินเชื่อตามแนวทาง Risk Based Pricing อยู่ต่อเนื่อง โดยในส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ที่ทำธุรกิจการโอนสินเชื่อหรือหนี้ (Balance Transfer) มาอยู่กับธนาคาร จะปรับลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 13% ต่อปี จากเดิม 24%

“นอกจากสินเชื่อบุคคล เรายังคงทดลองทำในกลุ่มสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สำหรับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมายังมียอดสินเชื่อไม่เยอะมาก เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการทดลองตลาด”

นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (LINE BK) กล่าวว่า แม้ว่า ธปท.อาจจะชะลอแผน Risk Based Pricing ไป แต่ LINE BK ได้มีการปล่อยสินเชื่อโดยยึดหลักแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งหากกรณีลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่กว่า 10% ต่อปี และเพดานดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ 25% ต่อปี โดยแนวคิด ธปท.ต้องการใช้ Risk Based Pricing เพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเพดาน 25% เข้ามาได้ และคนที่เสี่ยงน้อยได้ดอกเบี้ยต่ำลง

“แนวคิด Risk Based Pricing เป็นแนวคิดที่ดีที่ต้องการเปิดให้คนที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาอยู่ในระบบการเงินได้ โดยเปิดเพดานการคิดอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่า 25% ต่อปี อย่างไรก็ดี การเปิดเพดานดอกเบี้ยจะเปิดเฉพาะบางกลุ่มไม่ได้ แต่จะต้องเปิดดอกเบี้ยให้กับทุกคน ดังนั้น จะต้องเปิดในแง่กฎหมายก่อน และตามมาด้วยการกำกับดูแลของทางการ จะทำให้สามารถช่วยดึงคนที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบได้”

อ่านข่าวต้นฉบับ: ธปท.เบรกแผน คิดดอกเบี้ยตามเสี่ยง ชี้สถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนยังอ่อนไหว”



Source link

Post a Comment

Previous Post Next Post