ซีรีส์วายไทย ผลิตมากสุดในโลก เป็นซอฟต์พาวเวอร์-ทรัพยากรแห่งความหวัง


ซีรีส์วายไทย ผลิตมากสุดในโลก เป็นซอฟต์พาวเวอร์-ทรัพยากรแห่งความหวัง

ซีรีส์วายไทย ผลิตมากที่สุดในโลก เป็นซอฟต์พาวเวอร์และทรัพยากรแห่งความหวัง เนื้อเรื่องไม่ตัน-การแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดนานาชาติ ผลักดันให้คุณภาพมากขึ้น

วันที่ 21 กันยายน 2567 ที่สยามพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน “FEED” ผู้นำคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ในเครือมติชน จัดงาน FEED Y AWARDS 2024 “SOFT POWER UNLIMITED” ยกทัพนักแสดงและศิลปินชื่อดังมากกว่า 100 ชีวิต ทั้งซีรีส์ Boy Love-Girl Love และวงการเพลง T-POP มอบทั้งความสุขและความมันส์ให้บรรดาแฟนคลับ กับฟรีคอนเสิร์ตยาวถึง 12 ชั่วโมงเต็ม ตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น.

หนึ่งในไฮไลต์ภายในงาน คือ เวทีเสวนา ในหัวข้อ “ความท้าทายของซีรีส์ Boy Love – Girl Love ซอฟต์พาวเวอร์ไทยบนเวทีนานาชาติ” ท่ามกลางการแข่งขันผลิตซีรีส์ Boy Love – Girl Love ที่ดุเดือดในตลาดนานาชาติ แล้วซีรีส์สัญชาติไทยจะเผชิญกับโอกาสและความท้าทายใดบ้าง

โดยมีผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย “ผ่านศึก ธงรบ” ผู้อำนวยการอ้ายฉีอี้ ประจำประเทศไทย (iQIYI) ในฐานะแพลตฟอร์มระดับโลก, “รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม” รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี และผู้อำนวยการศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิทยาการขั้นสูงแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านซีรีส์แนว Boys Love และ Girls Love ในประเทศไทย

พร้อมด้วยนักแสดงมากความสามารถ “อัพ-ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง” และ “ภูมิ-ภูริพันธ์ ทรัพย์แสงสวัสดิ์” ดำเนินรายการโดย “พัณณภัทร์ ดนัยอรุณพัฒน์” (เจมส์ หนังหน้าโรง)

Boy Love – Girl Love หลากหลายขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม เผยว่า ความสนใจในซีรีส์ Boy Love – Girl Love ของตนเริ่มต้นจากการทำงานวิจัยในช่วงทศวรรษ 2000 โดยงานช่วงแรกที่ทำส่วนใหญ่จะศึกษาเรื่องกลุ่มแฟน เค-ป็อป มากกว่า จนกระทั่งเกิด “วายบูม” ขึ้น ทำให้หลังปี 2557 ก็มาศึกษาเรื่อง Boy Love – Girl Love อย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน

ในแง่ประเภทหรือลักษณะของงาน Boy Love – Girl Love ช่วงปีที่ผ่านมา จะมีงานข้ามประเภทหรือผสมประเภทมากขึ้น คอนเทนต์ Boy Love – Girl Love ไม่ได้มีแค่เนื้อเรื่องในมหาวิทยาลัยแล้ว มีเรื่องเกี่ยวกับออฟฟิศในวัยทำงาน หรือมีการผสมประเภทกับแฟนตาซี พีเรียด และสยองขวัญ

ส่วนในแง่อุตสาหกรรม สิ่งที่มีแนวโน้มให้เห็นชัดเจนมากขึ้นคือการโคโปรดักชั่น และงานที่มีการดัดแปลงข้ามชาติ สมัยก่อนซีรีส์วายจะดัดแปลงจากนิยายวายไทย แต่ปัจจุบันมีซีรีส์ที่ดัดแปลงจากนิยายวายจีนแล้ว เช่น เรื่อง “ตัวนายตัวแทน” ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นำวัตถุดิบต่างชาติมาดัดแปลงเป็นของไทย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ดัดแปลงจากญี่ปุ่นด้วย ซึ่งมีให้เห็น 3-4 เรื่องแล้วในปัจจุบัน และที่น่าสนใจคือคอนเทนต์วายของไทยเองก็ถูกนำไปดัดแปลงเป็นญี่ปุ่นแล้วด้วยเช่นกัน

อีกทั้ง โมเดลอุตสาหกรรมที่มักจะเห็น คือ เมื่อก่อนจะมีการจัดแฟนมีตหลังจากฉายไฟนอลอีพี แต่ปัจจุบันจะมีแฟนมิตทั้งก่อนและหลัง นับเป็นโมเดลใหม่ ๆ ที่มีเห็นมากขึ้น

ด้าน ผ่านศึก ธงรบ กล่าวว่า iQIYI เริ่มมีซีรีส์วายเรื่องแรก ๆ ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งแฟน ๆ เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ (iQIYI) สามารถทำธุรกิจนี้ได้อย่างต่อเนื่องและเเข็งแรงมากขึ้น

สำหนับเกณฑ์ในการคัดเลือกว่าเรื่องใดจะเข้ามาอยู่ในแพล็ตฟอร์ม แน่นอนว่าคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการเล่าเรื่องหรือการแสดงก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ iQIYI ไม่ทอดทิ้งคือการตอบโจทย์ตลาด ดังนั้นเรื่องที่เลือกจึงต้องมีความน่าสนใจในความดึงดูดเพื่อตอบโจทย์ผู้ชมด้วย

ไทยผลิตมากสุดในโลก

รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม กล่าวว่า ในแง่จำนวน ไทยผลิตซีรีส์ Boy Love – Girl Love ได้มากที่สุดในโลก ส่วนในแง่ศักยภาพ ปัจจุบันไทยมีงานที่ดัดแปลงข้ามชาติ และหนังสั้นซึ่งเป็นงานอีกประเภทหนึ่งที่อาจพัฒนาต่อไปได้

สำหรับการแข่งขัน ปีที่ผ่านมามีกรณีน่าสนใจคือ ญี่ปุ่นที่เป็นต้นกำเนิด Boy Love มีการจัดทำมังงะวายเป็นซีรีส์ จากการไปทำวิจัยที่ญี่ปุ่น สิ่งที่แปลกมากและญี่ปุ่นไม่เคยทำคือแฟนมีต เพราะวิถีไอดอลของญี่ปุ่นจะเเยกขาดจากชีวิตจริง แต่ปัจจุบันการทำแฟนมีตเกิดขึ้น

สำหรับแฟนมีตน่าจะเป็นอิทธิพลของไทย ซึ่งการเจาะตลาดแฟนมีตในเอเชียไทยคือผู้บุกเบิก ดังนั้น เป็นสิ่งที่ต้องจับตา เพราะเริ่มเห็นโมเดลที่จะแข่งกับไทย โดยใช้โมเดลของไทย ดังนั้น ต้องพัฒนาวิธีการขายให้ดีขึ้น

ด้าน ภูมิ-ภูริพันธ์ เผยถึงความรู้สึกที่ซีรีส์ Boys Love-Girls Love เติบโต และเป็นปรากฎการณ์ที่ทั่วโลกจับตามอง ว่า ดีใจที่ซีรีส์ไปได้ไกล นักแสดงทำเต็มที่ในทุก ๆ บทบาท แต่อยากให้ไปได้ไกลมากกว่านี้ ถ้ามีส่วนร่วมตรงนี้ก็จะรู้สึกดีใจมาก

ขณะที่ อัพ-ภูมิพัฒน์ กล่าวในทิศทางเดียวกัน ว่า เมื่อก่อนตอนมองเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ เกิดความคิดว่าสิ่งนี้สามารถไปสู่ตลาดโลกหรือผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่

แต่วันนี้มีเรื่องที่ประสบความสำเร็จมากมาย จนทำให้รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องผลักดันและสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ และให้กำลังใจกันเองด้วย เพราะนักแสดงก็ตั้งใจทำกันมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนก็ตาม และรอมองอนาคตว่าอุตสาหกรรมนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

Boys Love-Girls Love ไม่มีเพดาน

ผ่านศึก ธงรบ กล่าวว่า ยังไม่เห็นเพดานของอุตสาหกรรมนี้ Boys Love-Girls Love หลายคนมักถามว่าซีรีส์วายไทยจะไปได้เหมือนเกาหลีหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไทยไม่ได้เดินตามเกาหลีด้วยซ้า แต่ไทยเดินตามแนวทางของตนเอง ซึ่งมีความน่าสนใจและเเข็งเเรงไม่น้อยไปกว่ากัน

รูปแบบของซีรีส์วายไทยประกอบไปด้วยการจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เป็นกลุ่มก้อนเอนเตอร์เทนเมนต์ที่เดินทางคู่ขนานกันไปอย่างแข็งแรงมาก ๆ

สิ่งที่น่าสนใจในการพาซีรีส์ Boys Love-Girls Love ไปสู่สากล คือ ภาษา สมัยก่อนเราดูซีรีส์หรือหนังต่างประเทศจะคุ้นกับการพากย์ทับ ซีรีส์วายไทยในปัจจุบันที่ฉายยังต่างประเทศมีอัตราการพากย์ทับน้อยมาก แปลว่าคนดูทั่วโลกดูผ่านภาษาไทย ซึ่งทำให้เกิดความคุ้นชินของภาษา เกิดการเรียนรู้ผ่านวัฒนธรรม การใช้ชีวิตต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดไปทั้งสิ้น ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เนียนและเเข็งเเรงมาก

ประกอบกับทั้งอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมต่าง ๆ จัดควบคู่กันไห ไม่เพียงทำให้ต่างชาติรู้สึก “อยากมา” ประเทศไทย แต่รู้สึกว่า “ต้องมา” เพื่อเจอนักแสดง และมาทำกิจกรรมด้วยกัน ในทางกลับกันนักแสดงก็เป็นผู้พาวัฒนธรรมไทยไปถึงต่างประเทศด้วยเช่นกัน

ซีรีส์ Boys Love-Girls Love ไม่ตัน

รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่สำคัญในแง่การครบรอบ 10 ปี ของวายบูม เมื่อปี 2557 จะเห็นว่าเปลี่ยนไปเยอะ มีลูกเล่นใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องตัน ในโลกที่มีการแข่งขันสูง คุณภาพของโปรดักชั่น บท และนักแสดงจะมีมากขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย คือประเทศอื่นอาจจะมีเพดานวัฒนธรรม ที่ความสัมพันธ์แบบชายรักชายจะถูกปิดกั้น แต่ประเทศไทยเปิดแล้ว และไม่ถึงกับถูกปิดกั้นในระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากนี้ มังมีความเคลื่อนไหวในเชิงสังคม และความเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมายด้วย จึงเป็นโอกาสให้ไทย

ขณะที่ อัพ-ภูมิพัฒน์ กล่าวว่า หลายคนถามว่าเนื้อเรื่องตันหรือยัง การแข่งขันที่สูงขึ้นในประเทศไทยจะผลักดันให้คุณภาพสูงขึ้นตามไปด้วย และตอนนี้ไม่ได้เป็นแค่ในไทยแต่อยู่ในระดับโลกแล้ว ประกอบกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นไวมาก จึงไม่มีอะไรที่สามารถมาบอกได้ว่าสิ่งนี้ตันหรือยัง

“10 ปีที่มองย้อนไป เรื่องราวมันถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อว่าในอนาคตก็จะเปลี่ยนแปลงไปอีก ในมุมนักแสดงคือความสนุก เพราะบทที่เราได้รับ ทุกวันนี้มีความหลากหลายมากขึ้น มันคือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้นักแสดงหลายคนยังมีความสุขกับการแสดงอยู่”

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือเราเห็นแฟนคลับต่างประเทศมาไทย ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในซีรีส์ ซึ่งมีทั้งเรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ และภาษา ซึ่งไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด ในอนาคตสิ่งเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามเทรนด์ อัพ-ภูมิพัฒน์ กล่าว

ทรัพยากรแห่งความหวัง

รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม กล่าวว่า ถ้าพูดถึงความเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในแง่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ เพื่อโน้มนำความรู้สึกของคนชาติอื่นให้รู้สึกว่าประเทศเราดี ซีรีส์ Boys Love-Girls Love ทำได้แล้ว

มีงานวิจัยที่บอกว่า มีคนจำนวนมากที่ดูซีรีส์วายไทย แล้วรู้สึกว่าในบริบทสังคมตัวเองยังไม่ได้รับการปลดปล่อย ก็คือดูแล้วเกิดความหวัง เช่น นักวิชาการออสเตรเลียจะเรียกลักษณะแบบนี้ว่า Resources of hope หรือ ทรัพยากรแห่งความหวัง

มีซีรีส์วายเกาหลี ซึ่งเกาหลียังมีการปิดกั้นความรักเพศเดียวกัน ก็มาถ่ายที่กรุงเทพมหานคร เพราะกรุงเทพเป็น City of hope อันนี้คือซอฟต์พาวเวอร์ในความหมายโน้มนำความคิดให้รู้สึกว่าประเทศเรามีภาพลักษณ์ที่ดี

สมรสเท่าเทียม โอกาสซีรีส์ Boys Love-Girls Love

รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม กล่าวว่า จุดเด่นของซีรีส์ Boys Love-Girls Love ไทยที่ต่างจากของประเทศอื่นคือมีการพูดถึงความเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งไม่ปรากฎในประเทศอื่น

พอมีการรณรงค์สมรสเท่าเทียมมากขึ้น จะเห็นว่า Boys Love-Girls Love ไทยก็ใส่ฉากแต่งงาน ฉากแลกแหวน ในช่วงที่ก่อนจะประกาศว่ากฎหมายผ่านแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก

อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่ง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม อาจจะไม่ได่แปลว่าความเสมอภาคในมิติทางเพศ หรือมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะไดเรับการปรับเปลี่ยนทั้งหมด ความท้าทายของซีรีส์ Boys Love-Girls Love คือ อาจพูดถึงประเด็นทางสังคมอื่น ๆ ได้ เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านร่างกาย เรื่องอายุ หรือแม้แต่ชนชั้น ชาติพันธ์ ก็เป็นประเด็นที่ซีรีส์ Boys Love-Girls Love ไทยสามารถหยิบยกมาพูดได้

ความท้าทาย การผลักดัน

ผ่านศึก ธงรบ กล่าวว่า เมื่อกฎกติกาในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันเรื่องการเผยแพร่บนแพล็ตฟอร์ม iQIYI เข้าใจและเคารพวัฒนธรรมและความแตกต่าง แต่บางประเทศสารที่เราอยากนำเสนอไม่ได้เต็ม 100% จึงมองเป็นทั้งข้อจำกัดและความท้าทายในอุตสาหกรรม เพราะซีรีส์วายไม่ได้ถูกเบรกไว้

สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนตัวได้ทำงานกับภาครัฐหลายส่วนและพบว่า ทั้งวิสัยทัศน์ และระบบการทำงานต่าง ๆ ซัพพอร์ตมากขึ้น อย่างน้อยถ้ายังส่งเสริมได้ไม่เต็มที่ ก็จะเป็นการลดอุปสรรคในการทำงานได้ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าได้ดีขึ้น

นอกเหนือจากแฟนคลับที่เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรม การร่วมทุนการผลิตกับต่างประเทศ จะเกิดการแลกเปลี่ยน และมีเม็ดเงินไหลเข้ามา และทำให้คอนเทนต์ของไทยถูกนำเสนอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง



Source link

Post a Comment

Previous Post Next Post