โศกนาฏกรรม ที่ไม่ควรเกิดซ้ำอีก…



คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

เชื่อว่าทุกคนบนโลกใบนี้ต่างก็สะเทือนใจ สลด หดหู่กับเหตุการณ์ “รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้”

เพราะเหตุการณ์นี้ได้พรากบุคคลอันเป็นที่รักของหลายครอบครัวไปก่อนวัยอันควร หลังเหตุการณ์เกิดขึ้น คำถามต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัย และความเหมาะสมของกิจกรรม

พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านเสนอให้ยกเลิก “ทัศนศึกษา” เพราะเป็นห่วงลูกหลาน แต่ก็มีอีกเสียงที่เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย มากกว่าไปยกเลิกกิจกรรมที่เด็กจะมีโอกาสได้เรียนรู้นอกห้องเรียน

สำหรับผู้เขียนเองเห็นว่า “ทัศนศึกษา” ควรจะจัดให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย อย่างเช่นเด็กเล็ก เด็กอนุบาล หรือแม้แต่เด็กประถม อาจจะทัศนศึกษาตามแหล่งเรียนรู้รอบ ๆ ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก

เพราะยิ่งเดินทางไกลก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง แต่ไม่ใช่ว่าใกล้ ๆ จะไม่เสี่ยงเลย แต่ก็น่าจะน้อยกว่าการที่ต้องนั่งรถไปไกล ๆ

แต่ที่สำคัญกว่านั้น ควรกำหนดมาตรฐานของ “รถที่เด็กนักเรียนต้องนั่ง” อย่างจริงจัง ที่ใช้คำว่า “รถที่เด็กนักเรียนต้องนั่ง” ก็เพราะว่า ไม่ได้หมายถึงแค่รถทัวร์ที่นั่งไปทัศนศึกษา แต่รวมถึงรถรับ-ส่งนักเรียนด้วย

ซึ่งบ้านเราละเลยการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยเรื่องนี้กันมาก ถ้าโรงเรียนในต่างจังหวัดก็จะเห็นรถรับ-ส่งนักเรียน เป็นรถสองแถวบ้าง รถตู้บ้าง

หรือโรงเรียนในเมืองก็มักจะใช้รถตู้ ซึ่งหลายครั้งเราก็ได้ยินข่าว “ลืมเด็ก” ไว้บนรถตู้ จนบางกรณีเด็กเสียชีวิตเลยก็มี ทั้งหมดนี้ต้อง “เอาจริง เอาจัง” กันได้แล้ว

ต้องกำหนด “มาตรฐานรถที่เด็กนักเรียนต้องนั่ง” อย่างจริงจัง และเข้มงวด รถแบบไหน ประเภทไหน ไม่ให้นำมาใช้ หรือรถที่มีมาตรฐาน ต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ไม่น่าจะยากเกินกว่าสติปัญญาและนำไปสู่การบังคับใช้ของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเรา

นอกจาก “มาตรฐานรถที่เด็กนักเรียนต้องนั่ง” ก็ต้องกำหนด “มาตรฐานคนขับรถที่นักเรียนต้องนั่ง” ด้วย ต้องมีการฝึกทักษะด้านความปลอดภัย และทบทวนอย่างสม่ำเสมอด้วย

แล้วเรื่องนี้ หลาย ๆ ฝ่ายควรมีส่วนร่วม นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ว่าจะกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงคมนาคม หน่วยงานอื่น ๆ ก็มีส่วนร่วมได้

อย่างเช่น การใช้มาตรการทางภาษีของกระทรวงการคลัง หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

คงไม่มีใครอยากเห็นโศกนาฏกรรมแบบนี้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น คงต้องใช้โอกาสนี้ในการ “รื้อ” สิ่งที่เป็นปัญหา และ “สร้าง” สิ่งใหม่ที่จะดีขึ้น ต้องร่วมด้วยช่วยกัน

…เพื่ออุทิศให้กับ 23 ชีวิตที่ต้องสูญเสียไป…

อ่านข่าวต้นฉบับ: โศกนาฏกรรม ที่ไม่ควรเกิดซ้ำอีก…



Source link

Post a Comment

Previous Post Next Post